วันสงกรานต์ เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน ถึงวันที่ 15 เมษายนของทุกปีวันที่ 13
เป็นวันต้น คือวันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 คือวันกลาง เป็นวันเนา และวันที่ 15 เมษายน คือวันสุดท้าย
เรียกว่า วันเถลิงศก
มหาสงกรานต์ แปลว่า ก้าวขึ้น หรือย่างขึ้นครั้งใหญ่ หมายถึง สงกรานต์ปี คือ ปีใหม่อย่างเดียว
วันเนา เป็นวันอยู่เฉย ๆ เป็นวันว่างนอกจากเล่นสนุก เนา เป็นคำเขมร แปลว่า อยู่ เป็นวันถัดจาก
มหาสงกรานต์ มา 1 วัน เป็นวันที่ดวงอาทิตย์เข้าที่เข้าทางในวันราศีตั้งต้นใหม่เรียบร้อยแล้ว
วันเถลิงศก แปลว่า วันขึ้นศก เป็นวันที่เปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การที่เลื่อนวันขึ้นศกใหม่ มาเป็นวันที่ 3
ถัดมาจากวันมหาสงกรานต์ ก็เพื่อให้หมดปัญหาว่าการย่างขึ้นสู่จุดเดิม สำหรับปีนั้นเรียบร้อยดี
นางสงกรานต์ ของแต่ละวันจะมีนาม อาหาร อาวุธ และสัตว์เป็นพาหนะต่าง ๆ ดังนี้
วันอาทิตย์ ชื่อทุงษเทวี ทัดดอกทับทิมเครื่องประทับปัทมราค ภักษาหารผลมะเดื่อ อาวุธขวาจักร
ซ้ายใช้สังข์ พาหนะครุฑ
วันจันทร์ ชื่อโคราคเทวี ทัดดอกปิ่น เครื่องประดับมุกดาหาร (ไข่มุก) ภักษาหารน้ำมันเนย อาวุธขวาพระขรรค์
ซ้ายไม้เท้า พาหนะเสือ
วันอังคาร ชื่อรากษสเทวี ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับโมรา (หินลายชนิดหนึ่งนับเข้าในพวกหินมีค่าหรือ
ที่เรียกกันว่า แก้วโมรา ) ภักษาหาร คือ โลหิต อาวุธขวา ตรีศูล ซ้ายธนู พาหนะ สุกร
วันพุธ ชื่อมณฑาเทวี ทัดดอกจำปา เครื่องประดับไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย อาวุธ คือ ไม้เท้าเหล็กแหลม
พาหนะ ลา
วันพฤหัสบดี ชื่อกิริณีเทวี ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับ แก้วมรกต ภักษาหาร ถั่วงา อาวุธขวา
ขอช้าง ซ้ายปืน พาหนะ ช้าง
วันศุกร์ ชื่อกิมิทาเทวี ทัดดอกจงกลนี เครื่องประดับบุษราคัม ภักษาหาร กล้วยน้ำว้า อาวุธขวา
พระขรรค์ ซ้าย พิณ พาหนะ กระบือ
วันเสาร์ ชื่อมโหทรเทวี ทัดดอกสามหาว เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหาร เนื้อทราย อาวุธขวาจักร
ซ้ายตรีกูล พาหนะนกยูง
กิจกรรมวันสงกรานต์
- ทำบุญตักบาตร หรือนำอาหารไปถวายพระที่วัด เพื่อสืบทอดและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและเพื่อ
กล่อมเกลาจิตใจให้รู้จักการให้ การเสียสละ โดยมิมุ่งหวังสิ่งใดตอบแทน
- สรงน้ำพระพุทธรูป , สรงน้ำพระภิกษุสามเณร เพื่อความเป็นสิริมงคล และแสดงความเคารพต่อ
ปูชนียบุคคล ที่ดำรงสืบทอดพระพุทธศาสนา
- รดน้ำและขอพรผู้ใหญ่ เป็นการแสดงความเคารพและแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณโดย
เฉพาะผู้อาวุโสน้อยพึงปฏิบัติต่อผู้อาวุโสมาก เช่น ลูกกับพ่อ-แม่-ปู่-ย่า-ตา-ยาย พุทธศาสนิกชนต่อ
พระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น เป็นการแสดงความสุภาพ อ่อนน้อม อ่อนโยน และขอรับพร ซึ่งผู้อาวุโสกว่า
เหล่านั้นจะได้อวยชัยให้พรให้อยู่เย็นเป็นสุข และได้ข้อคิดเตือนใจเพื่อเริ่มต้นปีใหม่อย่างไม่ประมาท
- ก่อพระเจดีย์ทราย จะทำในวันใดวันหนึ่งระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน โดยการขนทรายมาก่อเป็น
เจดีย์ขนาดต่าง ๆ ในบริเวณวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้วัดได้ใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง หรือถม
พื้นต่อไปถือเป็นการทำบุญอีกลักษณะหนึ่งที่ได้ทั้งบุญและความสนุกสนาน
- ปล่อยนกปล่อยปลา เรื่องการปล่อยนกปล่อยปลานั้น ที่ทำกันมาก คือปล่อยปลา เพราะหาซื้อ
เอาไปปล่อยได้สะดวก เป็นการแสดงความกรุณาต่อสัตว์ นิยมทำในวันสงกรานต์ และไม่จำกัดว่าจะ
ทำที่วัดเท่านั้นทั้งนี้สุดแล้วแต่ความเหมาะสม